ลักษณะงานอันเป็นภารกิจของกระทรวงมหาดไทยนั้น มีหลักฐานปรากฎในประวัติศาสตร์การปกครองของไทยมาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว
นับตั้งแต่กรุงสุโขทัยเป็นปฐมราชธานี เมื่อราว พ.ศ. ๑๘๐๐ มาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีการจัดระเบียบการปกครองฝ่ายพลเรือนในรูป " จตุสดมภ์ "
(เมือง วัง คลัง นา) โดยให้กรมเมือง มีหน้าที่ในการปกครองท้องที่ รักษาสันติสุข บังคับบัญชาบรรดาพลเรือน ตราบจนถึงรัชสมัยของ
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถราว พ.ศ. ๒๐๐๖ ได้กำหนดให้มีกรมมหาดไทย ดูแลบริหารราชการฝ่ายพลเรือนสืบทอดมาจึนถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
การก่อตั้งกระทรวงมหาดไทยเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๕ กล่าวได้ว่า เป็นการรวบรวมงานมหาดไทยมาอยู่ในที่เดียวกันอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าไว้เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยว่า ในยุคสมัยนั้นระเบียบการปฏิบัติงานต่างๆ
ขาดความชัดเจน งานที่ปฏิบัติก็ยังเหลื่อมซ้อนกันกับหน่วยงานอื่นๆ รวมตลอดจนวิธีการปฏิบัติงานก็ล้าสมัย จนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ต้องทรงมีพระราชดำริเป็นยุติให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฟื้นราชการมหาดไทยทั้งกระทรวง เลยทีเดียว
นับตั้งแต่เข้าดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย สมเด็จฯ ได้ทรงทำการปรับปรุงงานของกระทรวงมหาดไทยหลายประการ
อาทิ แก้ไขระเบียบการปฏิบัติงาน ยกเลิกประเพณีที่ให้เจ้าหน้าที่ต้องไปเสนอราชการที่บ้านเสนาบดี เลิกประเพณีที่เสนาบดีเอาตราตำแหน่งไปไว้ที่บ้าน
กำหนดระเบียบการออกตรวจราชการหัวเมือง ให้มีการจัดสร้างศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ริเริ่มแนวคิดการทำงานของ
กระทรวงมหาดไทยที่มุ่งเน้นให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข โดยการทำนุบำรุงบ้านเมืองเสียแต่ยามปกติ ไม่ต้องรอให้เกิดปัญหาเสียก่อนจึงค่อยดำเนินการ
รวมตลอดจนการจัดตั้งกรมต่างๆ ขึ้น และรวมการบังคับบัญชาหัวเมืองต่างๆ ซึ่งเดิมกระจายอยู่ถึง ๓ กระทรวง ให้มาขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย
เพียงแห่งเดียว เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมที่ผ่านมาทั้งในด้านการจัดองค์กร วิธีการปฏิบัติงานและตัวบุคลากร ทุกอย่างต้องได้รับการพิจารณาปรับเปลี่ยนให้สอดรับ
กับกระแสการเปลี่ยนทางสังคมทั้งภายในและภายนอกประเทศที่เกิดขึ้น โดยเป้าหมายของจุดเน้นจะอยู่ที่ประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ
เป็นสำคัญ ภารกิจหลากหลายในความรับผิดชอบต้องมีการกำหนดขอบเขตให้ชัดเจน ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน สับสน ทั้งผู้ปฏิบัติและผู้รับบริการ
การบริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วจะเป็นหัวใจของการปฏิบัติงาน ซึ่งอนาคตนับแต่นี้ไปจะถูกชี้นำด้วย นโยบายและแผน อย่างมีระบบ
ตัวผู้ปฏิบัติหรือบุคลากรของมหาดไทยทุกระดับจะได้รับการพัฒนาทั้ง คุณภาพ ทัศนคติ และ พฤติกรรม ให้เป็นคนรุ่นใหม่ที่มุ่งทำงานเพื่อประชาชน